ในหนังสือ‘สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี’ ได้กล่าวถึง ‘ความเป็นแม่’ ของสมเด็จฯไว้ตอนหนึ่ง ความว่า
“...สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงดำรงพระชนมชีพอยู่โดยธรรม ทรงเจริญพระธรรมด้วยการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ต่างๆ กล่าวอย่างภาษาชาวบ้านก็ว่า ปฏิบัติธรรมด้วยการทำงาน และก็ด้วยวิธีนี้เองได้ทรงแผ่พระคุณธรรมประการสำคัญ มีพรหมวิหาร ธรรม เป็นต้น ไปสู่บุคคลรอบพระองค์ นับแต่สมเด็จพระราชโอรสพระราชธิดา ไปจนถึงประชาราษฎร์ทั่วไป เป็นการทรงปฏิบัติพระ-ราชภาระแห่งความเป็น “แม่” โดยสมบูรณ์
...ส่วนการทรงอบรมปลูกฝังคุณธรรมแก่พระโอรสธิดานั้น ดูเหมือนสมเด็จฯจะทรงนำวิธีที่พระองค์เองทรงเคยมีประสบการณ์มาเมื่อครั้งทรงพระเยาว์มาใช้เป็นแนวให้พระโอรสธิดาปฏิบัติ ทรงเริ่มต้นด้วยเรื่องง่ายๆแต่เห็นได้ชัดเจน เหมาะแก่วัยของผู้ได้รับการอบรม และที่สำคัญก็คือไม่เพียงแต่ทรงสอนให้ทำเท่านั้น แต่ยังให้ความเข้าใจความหมายของเรื่องที่ให้ปฏิบัตินั้นด้วย เป็นต้นว่า ทรงสอนพระโอรสธิดาให้ทรงนับถือพระรัตนตรัยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
ทรงใช้วิธีแนะนำให้ทุกพระองค์ทรงอธิษฐานหรือตั้งพระราชหฤทัยรำลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง พร้อมทั้งทรงอธิบายอย่างง่ายๆ เพื่อพระโอรสธิดาในวัยนั้นจะพึงเข้าพระราชหฤทัยได้ ทรงสอนให้บำเพ็ญ ทาน คือการเอื้อเฟื้อแก่คนที่ควรเอื้อเฟื้อช่วยเหลือ ทรงอธิบายให้เห็นว่าทำไมจึงควรช่วยเหลือเขา การทรงอบรมปลูกฝังพระโอรสธิดาด้วยวิธีการดังนี้ นับเป็นการปลูกฝังทั้งคุณธรรมและความมีเหตุผลไปพร้อมกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อพระนิสัยของพระโอรสธิดาทุกพระองค์ โดยเฉพาะพระโอรสทั้ง ๒ พระองค์ ซึ่งในกาลต่อมาต้องทรงรับพระราชภาระอันหนักยิ่งในฐานะองค์พระประมุขของชาติไทย...”
และเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชนั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระดำรัส ทางวิทยุ อส.ในวันทรงผนวช ความว่า
“ในการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชในครั้งนี้ฉันในฐานะที่เป็นข้าแผ่นดินคนหนึ่งก็มีความปีติยินดีเช่นเดียวกับประชาชนคนไทยทั้งปวง และในฐานะที่ฉันเป็นสตรีผู้เกิดมาในพระบวรพุทธศาสนา มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และมีความเชื่อถือเลื่อม ใสในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ฉันก็ย่อมจะมีความปีติปลื้มใจยิ่งขึ้นไปอีก ในโอกาสที่บุตรชายได้บวชสืบพระศาสนาของ พระพุทธองค์ ในระหว่างทรงผนวชนี้ฉันเห็นว่า เมื่อประชาชนทั้งปวงก็ได้ร่วมพระราชกุศลนี้อยู่ส่วนหนึ่งแล้ว ด้วยการถวายอนุโมทนา ในการทรงผนวช จัดว่าเป็นปัตตานุโมทนามัย คือ บุญสำเร็จได้ด้วยอนุโมทนามัย จึงมีความปรารถนาที่จะให้ได้ร่วมพระราชกุศลอีกทางหนึ่งคือธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จได้ด้วยการฟังธรรม ด้วยเหตุนี้ฉันจึงได้ขอแรงบรรดาผู้ที่คุ้นเคยได้เคยร่วมสนทนาธรรมด้วยกัน ให้ช่วยกันเขียนบทความอันว่าด้วยข้อธรรมะต่างๆมาอ่านทางวิทยุกระจายเสียงสถานี อส.นี้ ทุกวันในระหว่างทรงผนวช หวังว่าบทความ ที่จะมีต่อไปในวันนี้และวันต่อๆไปจะมีประโยชน์ในทางความรู้ธรรม การพิจารณาธรรม และการปฏิบัติธรรม แก่ผู้ที่ได้ฟังบ้างไม่มาก ก็น้อย”
ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำรัส พระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต วันจันทร์ที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๘ โดยตอนหนึ่งพระองค์ได้ทรงมีพระราชปรารภถึงสมเด็จพระราชชนนี ซึ่งสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ในปีเดียวกันนั้น ความว่า
“...สมเด็จฯ ท่านเคยรับสั่งนานมาแล้วอย่างน้อยสิบปี รับสั่งว่า “แม่นี่น่ะ เกิดมานานแล้ว ก็แก่มากแล้ว” ตอนนั้นแก่มากคือ ๘๐ กว่า ก็นับว่าแก่ แต่ทูลว่า “แก่อย่างนี้ดี ยิ่งแก่ยิ่งดี เพราะว่าลูกหลานนี่น่ะ ถ้าพ่อหรือแม่แก่ ก็เป็นกำลังใจสำหรับลูกหลาน ว่าเรามีแม่ที่อายุยืน เราก็คงอายุยืนเหมือนกัน มีแม่ที่แข็งแรง เราก็คงแข็งแรงเหมือนกัน ก็เลยทูลว่า “แม่ต้องรักษาตัว ทูลว่าแม่ต้องเสวย เพราะตอนนั้นเสวยนิดเดียว ก็บอกว่าอิ่มแล้ว ท่านก็ผอมลงทุกที หมดแรง ไม่หิว แล้วก็รับสั่งว่า “แก่แล้วจะอยู่ทำไม” ก็ทูลว่า “อยู่สิ เป็นประโยชน์ เป็นกำลังใจสำหรับลูกหลาน” และนอกจากนี้ท่านรับสั่งว่า “เวลาไปที่เขื่อนหรือที่ไหน ทำให้คนเขาเดือดร้อน ต้องมาเฝ้า” เลยทูลว่า“ขอรับรองว่าเจ้าหน้าที่ เขายินดี ทรงเป็นกำลังใจให้เขา เขาถึงเรียกท่านว่า สมเด็จย่า” ในที่สุดทรงฟัง แล้วเริ่มเสวย ก็แข็งแรงขึ้น ทรงแข็งแรงขึ้นเป็นลำดับ จนถึงคราวที่ประชวรเมื่อ ๔ ปีที่แล้ว ต้องเสด็จประทับโรงพยาบาล ก็ไปเฝ้าเกือบทุกวัน เมื่อ ๔ ปีนั้นกำลังสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย วันหนึ่งทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เสร็จแล้วก็รีบวิ่งรถ ไปเฝ้าที่โรงพยาบาลศิริราช ก็พอดีทันเวลาเสวย ท่านรับสั่งว่า “อ้าว! ตะกี้อยู่ที่โน่น มาแล้วหรือ” ก็บอกว่ามาแล้ว ก็ถวายให้เสวย เสวย ก็ทรงแข็งแรงขึ้น จนกระทั่งอยู่อีก ๔ ปีเป็นกำไรที่ได้ ท่านเข้าพระทัยแล้วว่ายิ่งแก่ยิ่งดี
สำหรับแม่หรือใครๆ ที่เรานับถือ เรารัก ถ้าผู้นั้นอายุมาก และโดยเฉพาะอย่างท่าน ถ้าท่านทรงแข็งแรง ท่านรับสั่งรู้เรื่อง ทำงานอะไรๆได้ ก็มีประโยชน์ ท่านทรงมีประโยชน์ เมื่อสวรรคต ก็ทำตามที่ท่านรับสั่งไว้ว่า “แม่แก่แล้ว จะตายเมื่อไหร่ก็ได้ ตายแล้ว ห้ามร้องไห้ ไม่ให้ร้องไห้ เพราะเป็นของธรรมดา คนเราก็ต้องตาย” แต่ว่าตอนหลังนี้ ที่เห็นท่านทรุดลง ทรุดลง ก็รู้สึกว่าท่านจะอยู่ไม่ได้ แต่ก็ไม่อยากให้ท่านสิ้น อย่างไรก็ตามเมื่อสิ้นก็เป็นของธรรมดา ที่เราอาลัย เป็นของธรรมดาเหมือนกัน ฉะนั้นเมื่อท่านสิ้นแล้ว และได้เห็นความรัก ความนับถือ ที่คนทั้งชาติมีต่อท่าน ก็ปลื้มใจ ปลื้มใจว่ามีแม่ที่คนรัก ที่ถือว่าท่านเป็นสมเด็จย่า ซึ่งก็แปลกดีเหมือนกัน ถ้าใครต่อใครเรียกว่า “สมเด็จย่า” คนที่เรียกสมเด็จย่า ก็เป็นหลานๆ ของเรา เป็นหลาน เพราะว่าท่านเป็นแม่ แล้วท่านเป็นย่าของคนทั่วๆ ไป และเป็นสมเด็จย่าของลูกๆ ที่อยู่ข้างหลังนี้ ฉะนั้นเราก็เป็นญาติกันทั้งหมดแล้ว แต่อย่างไรก็ตามทุกคนก็รู้สึกว่ามีความอาลัย และทำให้ประชาชนทั้งชาติได้มีโอกาสแสดงความอาลัย เป็นประโยชน์ จะว่าครั้งสุดท้ายของท่าน ที่จริงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ท่านยังเป็นประโยชน์ต่อไปชั่วกาลนิรันดร์...”
ขอขอบคุณที่มาข้อมูล: www.manager.co.th
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น