หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
การทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยึดการดำเนินงานในลักษณะทางสายกลางที่สอดคล้องกับสิ่งที่อยู่รอบตัวและ สามารถปฏิบัติได้จริง ทรงมีความละเอียดรอบคอบและทรงคิดค้นแนวทางพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ประโยชน์ต่อ ประชาชนสูงสุด โดยมีแนวทางในการทรงงานดังต่อไปนี้
🚩ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ คือ การที่จะพระราชทานโครงการใดโครงการหนึ่งพระองค์ท่านศึกษาข้อมูลรายละเอียด อย่างเป็นระบบทั้งจากข้อมูลเบื้องต้น เอกสาร แผนที่ รายละเอียดต่างๆ ตลอดจนสอบถามจากเจ้าหน้าที่ และราษฎรในพื้นที่ เพื่อที่จะพระราชทานความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
🚩ระเบิดจากข้างใน คือ เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนาให้มีสภาพพร้อมที่จะ รับการพัฒนาเสียก่อนแล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก
🚩ทำตามลำดับขั้น คือ ในการทรงงานของพระองค์จะทรงเริ่มต้นจากสิ่งจำเป็นของประชาชนที่สุดก่อน และหลังจากนั้นจึงเชื่อมโยงไปถึงประโยชน์ด้านอื่นๆต่อไป
🚩ภูมิสังคม คือ การพัฒนาใดๆก็ตาม ต้องคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้นว่าเป็นอย่างไร และสังคมวิทยาเกี่ยวกับลักษณะนิสัยใจคอของคน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีในแต่ละท้องถิ่น
🚩ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด คือ การพัฒนาและช่วยเหลือราษฎรนั้น ทรงใช้หลักในการแก้ปัญหาด้วยความเรียบง่ายและประหยัด ราษฎรสามารถทำได้เองหาได้ในท้องถิ่น และประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาคนั้นๆ มาแก้ไขโดยไม่ต้องลงทุนสูงหรือใช้เทคโนโลยีที่ยุ่งยากนัก
🚩ทรงใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ คือ พระองค์ทรงเข้าใจในหลักธรรมชาติและต้องการให้ประชาชนใกล้ชิดกับธรรมชาติทรง มองอย่างละเอียดถึงปัญหาธรรมชาติ หากเราต้องการแก้ไขธรรมชาติ จะต้องใช้ธรรมชาติเข้าช่วยเหลือ อาทิ ยกตัวอย่าง การปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง ได้แก่ ปลูกไม้เศรษฐกิจ ไม้ผลและไม้ฟืน นอกจากได้ประโยชน์ตามชื่อของไม้แล้ว ยังช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้แก่พื้นดินด้วยธรรมชาติและมนุษย์ต้องเกื้อกูล กัน
🚩แก้ปัญหาที่จุดเล็ก คือ พระองค์ท่านทรงมองปัญหาในภาพรวมก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาของพระองค์จะเริ่มจากจุดเล็กๆ คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักมองข้าม ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่ง ความว่า “ถ้าปวดหัวคิดอะไรไม่ออก เป็นอย่างนั้นต้องแก้ไขการปวดหัวนี้ก่อน”
🚩ทำให้ง่าย คือ พระองค์ท่านทรงโปรดที่จะทำสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่าย ทำสิ่งที่สลับซับซ้อนให้เข้าใจง่าย โดยสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่และระบบนิเวศโดยส่วนรวม อันเป็นการแก้ปัญหาด้วยการใช้กฎแห่งธรรมชาติเป็นแนวทางนั่นเอง
🚩ไม่ติดตำรา คือ การพัฒนาตามแนวพระราชดำรินั้น มีลักษณะของการพัฒนาที่อนุโลมและรอมชอมกับสภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและสภาพ ของสังคมจิตวิทยาแห่งชุมชน คือ ไม่ผูกมัดติดกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ที่แท้จริงของคนไทยปกติเข้าสู่ระบบที่เป็นปกติ เช่น การนำน้ำดีขับไล่น้ำเสียหรือเจือจางน้ำเสียให้กลับเป็นน้ำดี ตามจังหวะการขึ้นลงตามธรรมชาติของน้ำหรือการบำบัดน้ำเน่าเสียโดยให้ผักตบชวา ซึ่งมีตามธรรมชาติให้ดูดซึมสิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำ เป็นต้น
🚩ปลูกป่าในใจคน คือ พระองค์ท่านทรงเล็งเห็นการแก้ไขปัญหาการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติด้วยการปลูก จิตสำนึกในการรักผืนป่าให้แก่คนเสียก่อน เพื่อให้พวกเขารักและดูแลผืนป่าของตนเองด้วยตนเอง
🚩มุ่งประโยชน์คนส่วนใหญ่เป็นหลัก คือ ทรงเห็นว่า การทำงานทุกอย่างของข้าราชการนั้นมีผลเกี่ยวเนื่องถึงประโยชน์ส่วนรวมของ บ้านเมืองและประชาชนทุกคน เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ทุกๆประการให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ โดยเต็มกำลังสติปัญญา ความรู้ ความสามารถการมี
🚩ส่วนร่วม คือ พระองค์ทรงเป็นนักประชาธิปไตย จึงทรงนำ “ประชาพิจารณ์” มาใช้ในการบริหาร เพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชน ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับได้มาร่วมกันแสดงความคิดเห็น” สำคัญที่สุดต้องหัดทำใจให้กว้างขวาง หนักแน่น ฟังความคิดเห็น วิพากวิจารณ์จากผู้อื่นอย่างฉลาด
🚩ขาดทุน คือ กำไร คือ จากพระราชดำรัสตอนหนึ่งนั้น ความว่า “เงินของรัฐบาลหรืออีกนัยหนึ่งคือเงินของประชาชน ถ้าอยากให้ประชาชนอยู่ดีกินดีก็ต้องลงทุน ต้องสร้างโครงการซึ่งต้องใช้เงินเป็น ร้อย พัน หมื่น ล้าน ถ้าทำไปเป็นการจ่ายเงินของรัฐบาล แต่ในไม่ช้าประชาชนจะได้รับผล ราษฎรอยู่ดี กินดี ราษฎรได้กำไรไป”
🚩บริการรวมที่จุดเดียว คือ พระองค์ท่านทรงแปรเปลี่ยนการทำงานที่มักจะแบ่งแยกกันทำมาเป็นการร่วมมือร่วม ใจโดยไม่มีเจ้าของและสามารถอำนวยประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน จึงเกิดรูปแบบการบริหารที่เป็นการ “บริการรวมที่จุดเดียว” และ “การบริการแบบเบ็ดเสร็จ” หรือ “One Stop Service” ขึ้น
🚩การพึ่งตนเอง คือ การพัฒนาให้ประชาชนสามารถอยู่ในสังคมได้ตามสภาพแวดล้อมและสามารถ “พึ่งตนเองได้” ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “...การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัวให้มีความพอกิน พอใช้ – ก่อน เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด” เพราะผู้มีอาชีพและฐานะที่จะพอพึ่งพาตนเองได้ย่อมพัฒนาให้เจริญยิ่งขึ้นไป ได้
🚩พออยู่พอกิน คือ จากประสบการณ์ที่พระองค์ท่านได้เสด็จเยี่ยมประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของประชาชน จึงทรงสามารถเข้าพระราชหฤทัยในสภาพปัญหาได้อย่างลึกซึ้งว่ามีเหตุผลมากมาย ที่ทำให้ราษฎรตกอยู่ในวงจรแห่งทุกข์เข็ญ จากนั้นได้พระราชทานความช่วยเหลือให้พสกนิกร มีความกินดีอยู่ดี มีชีวิตอยู่ในขั้น “พออยู่พอกิน” ก่อนแล้วจึงขยับขยายให้ก้าวหน้าต่อไป
🚩ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางดำรงอยู่ และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปอยู่บนทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ “ความพอเพียง” หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผล กระทบใดๆอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติทุกระดับให้มีความ มั่นคงต่อคุณธรรม คือ มีความซื่อสัตย์ อดทน ความเพียร ความรอบคอบและต้องใฝ่รู้ทั้งทางโลกและทางธรรมโดยสม่ำเสมอ
🚩องค์รวม ( Holistic) คือ พระองค์ทรงมีวิธีคิดอย่างองค์รวมหรือมองอย่างครบวงจร ในการที่จะพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการหนึ่งนั้นจะทรงมองเหตุการณ์ ที่จะเกิดขึ้น และแนวทางแก้ไขเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ เช่น กรณีของ “ทฤษฎีใหม่” เป็นต้น
🚩การให้ (ทฤษฎีโดมิโน) คือ สิ่งที่พระองค์ทำอยู่นั้น ทรงใช้หลักสังฆทาน คือ “ให้เพื่อให้” โดยเป็นการให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่เลือกผู้ให้ แต่ให้ในฐานะของเพื่อนมนุษย์และทรงเล่าให้ นายสุเมธ ตันติเวชกุล ถึงเหตุของทฤษฎีโดมิโน ตามอเมริกาทำนายไว้ว่าหลังจากสงครามเวียดนาม – ไทย แตกแน่ นั้นกลับผิดพลาดมิได้เกิดกับประเทศไทยเพราะสังคมไทยยังเป็นสังคมที่มีการให้ กันอยู่นั่นเอง
🚩ทำงานอย่างมีความสุข คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเกษมสำราญ และทรงมีความสุขทุกคราที่จะช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเคยรับสั่งครั้งหนึ่งว่า “ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น”
🚩ความเพียร : พระมหาชนก คือ จากพระราชนิพนธ์พระมหาชนก เป็นพระราชนิพนธ์ที่พระองค์ทรงใช้เวลาค่อนข้างนาน ซึ่งใช้ในการคิดประดิษฐ์ถ้อยคำให้เข้าใจง่ายและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพ สังคมปัจจุบัน อีกทั้งภาพประกอบและคติธรรมต่างๆได้ส่งเสริมให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่หากคนไทยน้อมรับมาศึกษาวิเคราะห์และปฏิบัติตามรอย พระมหาชนกแล้วไม่ว่าจะเผชิญกับความทุกข์ยากลำบากใดๆ ก็จะสามารถผ่านพ้นไปได้เสมอ
🚩รู้ รัก สามัคคี คือ เป็นคำสามคำที่มีค่าและมีความหมายลึกซึ้ง พร้อมทั้งสามารถปรับใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย
เอกสารอ้างอิง : หลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
Share on Google Plus

About test

This is a short description in the author block about the author. You edit it by entering text in the "Biographical Info" field in the user admin panel.
    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น